
มูลนิธิโครงการหลวง
งานพัฒนาของโครงการหลวง
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาบ้านดอยปุย ทอดพระเนตรเห็นชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโครงการหลวง เมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีพระประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดารและยากจน จากการดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกฝิ่น ให้หันมาปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ทดแทน รวมทั้งการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร
ระยะเริ่มแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฏรชาวเขา ได้พระราชทานอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค รวมทั้งพระราชทานพันธุ์พืชชนิดต่างๆ และหมูพันธุ์ลูกผสม ต่อมาได้มีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมประชาสงเคราะห์ และหน่วยงานต่างๆ เดินทางไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านต่างๆ ประจำทุกสัปดาห์ เพื่อจัดทำแปลงสาธิตการเกษตร และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรด้านต่างๆ รวมทั้งให้การฝึกอบรมเกษตรกรชาวเขาในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชดำรัส เรื่องช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขา ความว่า
"เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติดคือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่น ได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขา ตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยชาวเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก"
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ รวมถึงเป้าหมายของการทำงานของโครงการหลวงที่ชัดเจน ต่อมาหม่อมเจ้ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทรงอธิบายถึงวิธีการทำงานของโครงการหลวงใว้ในหนังสือประพาสต้นบนดอยว่า โครงการหลวงทำงานครบวงจร ประกอบด้วย
1. การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดความชัดเจนของพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ
2. การปลูกป่าในพื้นที่ส่วนที่ควรเป็นป่า เช่น การปลูกป่าชาวบ้าน ตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
3. การทำการเกษตรภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งการพัฒนาพื้นฐาน ได้แก่ ระบบชลประทาน รวมถึงการปรับปรุงถนนระหว่างหมู่บ้านสำหรับการขนส่งผลผลิตต่างๆ ไปสู่ตลาด
4. การวิจัย ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการปลูกพืชเขตหนาวทุกชนิดเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ผลจากการวิจัยได้นำไปส่งเสริมต่อเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาคนด้านการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อช่วยเขาให้ช่วยตนเอง
5. การขนส่ง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการตลาด เพื่อนำผลผลิตของเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภค
พ.ศ. 2521 โครงการหลวงได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่ โดยตั้งเป็นโครงการหลวงเพื่อพัฒนาในหมู่บ้านต่างๆ การดำเนินงานอาศัยทุนจากพระราชทรัพย์พระราชทาน และงบประมาณสนับสนุนจากมิตรประเทศ เช่น กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เป็นต้น
ปัจจุบันโครงการหลวงได้ให้การส่งเสริมและพัฒนาในพื้นที่ชุมชนชาวเขาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูง เรียกว่าศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มีจำนวน 38 แห่ง แต่ละศูนย์ฯครอบคลุมพื้นที่แห่งละ 5-20 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา มีประชากรชาวเขาเผ่าต่างๆ 13 เผ่าและชาวไทยที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ภูเขาได้รับประโยชน์ รวม 37,561 ครัวเรือน จำนวนประชากร 172,309 คน
ประชากรเป้าหมาย
ประชากรบนพื้นที่สูงในปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต กล่าวคือ ประชากรที่อยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูง ในปัจจุบันมืได้เป็นแต่เพียงชาวไทยภูเขาเท่านั้น แต่หมายรวมถึง คนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพลี้ภัยสงครามจากประเทศจีน คนไทยพื้นราบที่ขึ้นไปตั้งถิ่นฐานและประกอบธุรกิจบนพื้นที่สูง ทั้งด้านการเกษตร และการท่องเที่ยว จากการเปลี่ยนแปลงของประชากรซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาพื้นที่สูง ส่งผลต่อการพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สูงให้เหมาะสม เพราะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากร ส่งผลต่อระดับความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เช่น ที่ดินเพื่อยู่อาศัยและทำกิน ทั้งยังส่งผลต่อระดับความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ในชุมชน ซึ่งมีผลเกี่ยวพันถึงขีดความสามารถในการดูดซับมลภาวะของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว หากมองในด้านโครงสร้างอายุของชาวเขาที่ยังอยู่บนพื้นที่สูงจะพบสัดส่วนของคนแก่และเด็กมากขึ้น ในด้านระดับการศึกษาจะพบว่ามีผู้จบการศึกษาระดับประถมและมัธยมเพิ่มมากขึ้น ชาวเขาส่วนใหญ่เขียนอ่านภาษาไทยได้ บางคนมีการศึกษาระดับปริญญา หลายคนที่เป็นผู้นำท้องถิ่นมีความคิดอ่านที่ทันสมัยก้าวหน้า ความแตกต่างระหว่างบทบาทชายหญิงมีช่องว่างน้อยลง และที่สำคัญสุขอนามัยที่ดี ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของชาวเขาเพิ่มขึ้น
ที่ตั้งและจำนวนประชากรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง พ.ศ. 2554
ที่ตั้งและจำนวนประชากรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง พ.ศ. 2554
ลำดับ | จังหวัด | ศูนย์ฯ | อำเภอ | จำนวน กลุ่มบ้าน | กลุ่มบ้าน (แผนแม่บทสถาบันฯ) | กลุ่มบ้าน (ศูนย์นำเสนอ) | ครัวเรือน | ประชากร (คน) |
1 | เชียงใหม่ | แกน้อย | เชียงดาว | 15 | 13 | 12 | 852 | 6545 |
2 | เชียงใหม่ | ขุนแปะ | จอมทอง | 14 | 14 | 4 | 631 | 2623 |
3 | เชียงใหม่ | ขุนวาง | แม่วาง | 11 | 7 | 4 | 474 | 2099 |
4 | เชียงใหม่ | ตีนตก | แม่ออน | 32 | 32 | 5 | 924 | 2354 |
5 | เชียงใหม่ | ทุ่งเรา | สะเมิง | 3 | 3 | 3 | 303 | 1677 |
6 | เชียงใหม่ | ทุ่งเริง | หางดง | 7 | 7 | 3 | 716 | 2893 |
7 | เชียงใหม่ | ทุ่งหลวง | แม่วาง | 12 | 12 | 11 | 992 | 5897 |
8 | เชียงใหม่ | ปางดะ | สะเมิง | 14 | 14 | 13 | 2108 | 5563 |
9 | เชียงใหม่ | ปางอุ๋ง | แม่แจ่ม | 25 | 17 | 8 | 1104 | 5863 |
10 | เชียงใหม่ | ป่าเมี่ยง | ดอยสะเก็ด | 24 | 24 | 10 | 873 | 2203 |
11 | เชียงใหม่ | ม่อนเงาะ | แม่แตง | 18 | 18 | 7 | 776 | 2765 |
12 | เชียงใหม่ | แม่โถ | ฮอด | 11 | 11 | 5 | 1095 | 6372 |
13 | เชียงใหม่ | แม่ทาเหนือ | กิ่งอำเภอแม่ออน | 20 | 20 | 14 | 2183 | 7437 |
14 | เชียงใหม่ | แม่สะป๊อก | แม่วาง | 12 | 12 | 6 | 383 | 1289 |
15 | เชียงใหม่ | แม่สาใหม่ | แม่ริม | 5 | 5 | 5 | 468 | 3494 |
16 | เชียงใหม่ | แม่หลอด | แม่แตง | 5 | 4 | 5 | 188 | 578 |
17 | เชียงใหม่ | แม่แพะ | สะเมิง | 8 | 10 | 8 | 459 | 1738 |
18 | เชียงใหม่ | แม่แฮ | แม่แจ่ม | 24 | 24 | 12 | 770 | 4136 |
19 | เชียงใหม่ | วัดจันทร์ | กัลยานิวัฒนา | 21 | 19 | 11 | 1920 | 6767 |
20 | เชียงใหม่ | หนองเขียว | เชียงดาว | 5 | 5 | 5 | 760 | 4101 |
21 | เชียงใหม่ | หนองหอย | แม่ริม | 6 | 6 | 5 | 371 | 2694 |
22 | เชียงใหม่ | หมอกจ๋าม | แม่อาย | 15 | 15 | 9 | 2676 | 17933 |
23 | เชียงใหม่ | ห้วยลึก | เชียงดาว | 6 | 4 | 6 | 594 | 2462 |
24 | เชียงใหม่ | ห้วยส้มป่อย | จอมทอง | 15 | 15 | 3 | 545 | 2368 |
25 | เชียงใหม่ | ห้วยเสี้ยว | หางดง | 14 | 14 | 9 | 998 | 3416 |
26 | เชียงใหม่ | อ่างขาง | ฝาง | 9 | 5 | 9 | 1083 | 5391 |
27 | เชียงใหม่ | อินทนนท์ | จอมทอง | 26 | 26 | 27 | 1656 | 7035 |
28 | เชียงราย | แม่ปูนหลวง | เวียงป่าเป้า | 11 | 11 | 8 | 748 | 3380 |
29 | เชียงราย | ผาตั้ง | อ.เวียงแก่น | 4 | 4 | 664 | 2591 | |
30 | เชียงราย | สะโงะ | เชียงแสน | 7 | 7 | 6 | 636 | 3340 |
31 | เชียงราย | ห้วยน้ำขุ่น | แม่สรวย | 27 | 22 | 8 | 1765 | 7335 |
32 | เชียงราย | ห้วยน้ำริน | เวียงป่าเป้า | 7 | 6 | 7 | 370 | 1658 |
33 | เชียงราย | ห้วยโป่ง | เวียงป่าเป้า | 15 | 15 | 11 | 1123 | 3514 |
34 | เชียงราย | ห้วยแล้ง | เวียงแก่น | 10 | 10 | 13 | 1985 | 10879 |
35 | แม่ฮ่องสอน | แม่สะเรียง | แม่สะเรียง | 12 | 12 | 5 | 731 | 3231 |
36 | แม่ฮ่องสอน | แม่ลาน้อย | แม่ลาน้อย | 13 | 13 | 6 | 960 | 5242 |
37 | พะเยา | ปังค่า | ปง | 6 | 7 | 3 | 475 | 2699 |
38 | ลำพูน | พระบาทห้วยต้ม | ลี้ | 11 | 13 | 11 | 2202 | 10747 |
รวม | 500 | 476 | 297 | 37561 | 172309 |
ที่ตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวง
ภาพประกอบ : http://www.royalprojectthailand.com/development
โครงสร้างงานพัฒนาของโครงการหลวง ประกอบด้วย
1. กลุ่มศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 38 แห่ง
2. กลุ่มงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิต
3. ศูนย์อารักขาพืช
4. กลุ่มงานพัฒนาการศึกษา สังคม และสาธารณสุข ประกอบด้วยงานสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสังคมและสาธารณะสุข
ลักษณะหรือแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มงานต่างๆ ด้านการพัฒนาของโครงการหลวง มีดังนี้
1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง
แนวทางการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มีดังนี้
1) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการใช้ที่ดินรวมถึงการปลูกพืชภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม รวมถึงการปลูกป่าชาวบ้านเพื่อเป็นไม้ใช้สอยสำหรับครัวเรือน(ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) และการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร
2) อาศัยผลงานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรเป้าหมาย ปัจจุบันเน้นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ทั้งมาตรฐานระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐาน GLOBAL.GAP ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภับระดับนานาชาติ
3) การวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับการตลาด โดยมีศูนย์ผลิตผลโครงการหลวงเป็นกลไกในการประสานแผนการดำเนินงาน การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการควบคุมคุณภาพและผลผลิต
4) สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ทั้งด้านการประกอบอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5) ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและชุมชนในการบูรณาการพัฒนาด้านต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านเศรฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิ โครงการหลวงได้กำหนดยุทธศาสตร์ของศุนย์พัฒนาโครงการหลวง ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาอาชีพจากฐานความรู้ ประกอบด้วย 5 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 พัฒนางานทดสอบและสาธิต
แผนงานที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพภาคการเกษตร
แผนงานที่ 3 ฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
แผนงานที่ 4 ส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการหลวง
แผนงานที่ 5 สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ
2. ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 ส่งเสริมการพัฒนาคนในชุมชนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
แผนงานที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรชุมชน
แผนงานที่ 3 พัฒนาศักยภาพชุมชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด
3. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 4 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ
แผนงานที่ 2 ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
แผนงานที่ 3 รณรงค์การลดการใช้สารเคมีและเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม
แผนงานที่ 4 ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านและการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการผลิตและตลาด ประกอบด้วย 2 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 วางแผนและการจัดการผลผลิต
แผนงานที่ 2 พัฒนาและควบคุมคุณภาพผลผลิต
5. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 2 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 สร้างประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้ (Knowledge Center)
แผนงานที่ 2 พัฒนาระบบการบริหารจัดการ
2. ศูนย์อารักขาพืช
ศูนย์อารักขาพืช เป็นหน่วยงานสำคัญของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานวิจัยและถ่ายทอดความรู้ด้านอารักขาพืช เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง รวมถึงการเฝ้าระวังและการตรวจสอบสารตกค้างในผลผลิตต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืช และต่อสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิโครงการหลวงมีนโยบายไม่ใช้สารเคมีเพื่อปราบศัตรูพืช นอกจากจำเป็นจริงๆ จึงมีงานป้องกันและกำจัดศัตรูพืชพร้อมทั้งห้องปฏิบัติการเพื่อควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านั้น
หน้าที่สำคัญของงานป้องกันและกำจัดศัตรูพืชคือ การส่งเจ้าหน้าที่ด้านแมลงและโรคพืชไปตรวจเยี่ยมศูนย์ต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะปลูกผัก ไม้ดอก และไม้ผลต่างๆ และเมื่่อทางศูนย์พบปัญหา จะส่งตัวอย่างพืชที่มีอาการเหล่านั้นให้กับเจ้าหน้าที่ของงานป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เพื่่อให้คำแนะนำวิธีการกำจัดรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นงานนี้จึงเป็นเสมือนคลีนิครักษาโรค ซึ่งเป็นการควบคุมให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเคร่งครัด รวมถึงการควบคุมการการเฝ้าระวังการตรวจสอบสารตกค้างก่อนเก็บเกี่ยว และการตรวจสอบสารตกค้างหลังการเก็บเกี่ยว
3. กลุ่มงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิต
กลุ่มงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิต มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง โดยนำผลงานวิจัยไปถ่ายทอดต่อเจ้าหน้าที่และเกษตรกร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมแก้ใขปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ศูนย์และเกษตรกร การนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปสู่การวิจัยเพื่อแก้ใขปัญหาในระยะยาว การประสานการจัดทำแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงการติดตามและประมาณการผลผลิตที่จะนำออกจำหน่ายสูตลาด
4. งานพัฒนาการศึกษาและสังคม สาธารณสุข
มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเอง ตามแนวพระราชดำริ "ช่วยเขาเพื่อให้ช่วยตนเอง" โดยอาศัยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินงาน รวมถึงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น การรักษาวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของชนเผ่าต่างๆ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อต่อต้านการแพร่ระบาดของยาเสพติด ขอบเขตงานด้านพัฒนาสังคมและสาธารณะสุขของชาวเขาจึงกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับเด็กๆ แม่บ้าน พ่อบ้าน และชุมชนของชาวเขาโดยรวม การดำเนินงานในด้านนี้ได้อาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน และที่สำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมของตัวชาวเขาเอง ได้แก่
- สนับสนุนพัฒนาการศึกษาและสังคม ให้แก่เด็กด้อยโอกาส และขาดแคลน ส่งเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งของเยาวชน เพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำ รวมถึงส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพแก่เยาวชน สตรี และกลุ่มแม่บ้าน
- สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มประชาอาสา ซึ่งเป็นอาสาสมัคร ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ และเภสัชกร ในการเยี่ยมเยียนเพื่อให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น และการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน
- เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดของชุมชน โดยเน้นการให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน และส่งผลให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
- การส่งเสริมการฟื้นฟูและอนุรักษ์งานหัตถกรรมของชาวเขาชนเผ่าต่างๆ ได้ แก่ การศึกษา และรวบรวมองค์ความรู้งานด้านหัตถกรรมของชนเผ่าต่างๆ การฟื้นฟูและถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้รุ่นอาวุโสสู่รุ่นเยาว์ การส่งเสริมผลิตงานหัตถกรรมการจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวและสู่ตลาดทั่วไป เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือน
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดำเนินงานโดยการรวมกลุ่มของประชนเป้าหมายในการประกอบกิจกรรมด้านต่างๆร่วมกัน โดยการประสานงานและสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น อาทิเช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
- การสนับสนุนการเตรียมพร้อมของชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ที่สำคัญได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งของกรรมการชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเยาวชน การพัฒนาไก้ดท้องถิ่น การส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสร้างมาตรฐานร้านอาหารสะอาดและถูกสขอนามัย และมาตรฐานที่พักในชุมชน รวมถึงการประสานงานกับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
5. การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
งานด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของโครงการหลวง เน้นการดำเนินงานที่สนับสนุนให้ประชากรเป้าหมายมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเป็นหลัก ด้วยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยวัสดุท้องถิ่น โดยการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การปลูกปุ๋ยพืชสด การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการปลูกหญ้าแฟก การปลูกป่าชาวบ้าน ป้องกันการบุกรุกป่า การป้องกันไฟป่า และการปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำลำธารเป็นต้น
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
ประวัติความเป็นมา
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดตั้งขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2548 เพื่อเป็นกระบวนการและกลไกในการเสริมสร้างงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ การเสริมสร้างและการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น การเก็บรักษาคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ การถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการหลวง และการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนบนพื้นที่สูง ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู ป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในระดับนานาชาติเพื่อ ให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ขยายวัตถุประสงค์ให้สามารถบริหารจัดการสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองครองราชย์ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า “อุทยาน หลวงราชพฤกษ์” และต่อมาสำนักราชเลขาธิการแจ้งชื่อภาษาอังกฤษว่า "Royal Park Rajapruek"
วิสัยทัศน์
มุ่งวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลโครงการหลวงเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งความรู้พืชสวน ความหลากหลายทางชีวภาพ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับนานาชาติ
พันธกิจ
นโยบายการดำเนินงานของสถาบัน
นโยบายการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มีวัตถุประสงค์หลัก คือ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนางานโครงการหลวงและดำเนินการขยายผลโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งให้ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านการวิจัยและการพัฒนาพื้นที่สูงในระดับนานาชาติ โดยในการปฏิบัติงานของสถาบันมีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ 2 ประการ คือ
เป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ของสถาบัน
พื้นที่เป้าหมายของการดำเนินงาน
ภาพประกอบ : อ้างอิงจาก : http://www.hrdi.or.th/about_us/page/hrdi
ข้อมูลอ้างอิง : http://www.hrdi.or.th
พื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีภาระกิจที่ต้องขยายผลความสำเร็จของโครงการหลวงไปสู่การพัฒนาพื้นที่สูงอื่นๆ ของประเทศไทย จำนวน 3,829 หมู่บ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของประเทศไทย และมีประชาการอาศัยของเป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ทรัพยากรธรรมชาติกำลังถูกทำลายไปอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ ในขณะที่ประชาชนบนพื้นที่สูง ยังคงมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และมีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับพัฒนาหรือแก้ไข ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จึงได้ดำเนิน “โครงการขยายผลโครงการหลวง” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548โดยจัดตั้งโครงการในพื้นที่สูงเป้าหมายต่างๆ และมีเจ้าหน้าที่ขยายผลโครงการหลวง ทำหน้าที่ปฏิบัติงานพัฒนาในพื้นที่ร่วมกับชุมชน และมี
มูลนิธิโครงการหลวงเป็นต้นแบบของการพัฒนา ทำหน้าที่ให้การปรึกษา และสนับสนุนเชื่อมโยงการดำเนินงานซึ่งกันและกัน โดยแบ่งการบริหารจัดการโดยใช้ขอบเขตของลุ่มน้ำ แบ่งได้เป็น 6 ลุ่มน้ำดังนี้
แผนที่ลักษณะความเชื่อมโยงองค์ความรู้ของศูนย์ขยายผลโครงการหลวง
ภาพประกอบ อ้างอิงจาก : http://www.hrdi.or.th/AreaOfOperations/page/ExpansionRoyalProject